Last updated: 13 ก.ย. 2565 | 4303 จำนวนผู้เข้าชม |
นิวเมติกส์ (pneumatic) คืออะไร
ระบบนิวเมติกส์ (pneumatic system) คือระบบที่ใช้การอัดอากาศส่งไปตามท่อที่ประกอบเข้ากับชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องจักร เพื่อทำให้เกิดพลังงานกลในการทำงานสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ระบบนิวเมติกส์ในปัจจุบันนั้นมีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ระบบกระบอกสูบลม มอเตอร์ลมอย่างง่าย ไปจนถึงการทำงานในเครื่องจักรขนาดใหญ่ ประกอบกับระบบ Automation เพื่อการทำงานแบบอัตโนมัติ
ระบบนิวเมติกได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีข้อดีที่โดดเด่นแตกต่างจากระบบไฟฟ้าและระบบไฮดรอลิกส์ ดังนี้
ข้อดีของระบบนิวเมติกส์
1.ความปลอดภัย
เมื่อเทียบกับระบบไฟฟ้าแล้ว ถ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดเคลื่อนไหวติดขัด จะทำให้เกิดความร้อนสะสม และอาจเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ได้
นอกจากนี้หากสายไฟชำรุด อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดูด หรือไฟลัดวงจรได้ แต่สำหรับระบบนิวเมติกส์นั้น ถ้าหากสายชำรุดก็แค่มีลมรั่วออกมา จึงไม่เป็นอันตรายเท่าระบบไฟฟ้า
2.ความสะอาด
เมื่อเทียบกับระบบไฮดรอลิกส์ซึ่งใช้น้ำมันแล้วนั้น มักจะเกิดไอน้ำมันออกมา และเมื่อเกิดการรั่วไหลแล้ว พื้นที่บริเวณนั้นก็จะสกปรกมาก ในทางกลับกันในระบบนิวเมติกส์ หากเกิดการรั่วไหลก็จะมีแค่ลมออกมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความสกปรกบริเวณเครื่องจักร
โครงสร้างพื้นฐานของระบบนิวเมติกส์
ต่อไปนี้เป็นภาพตัวอย่างการใช้งานและส่วนประกอบต่าง ๆ ในโครงสร้างพื้นฐานของวงจรนิวเมติกส์ซึ่งใช้กระบอกลม【แผนภาพที่ 1】
ส่วนประกอบภายในระบบนิวเมติกส์
1. ส่วนเตรียมลม
ส่วนนี้เป็นส่วนต้นทางของระบบเลยนะครับ มีหน้าที่หลักๆคือการเตรียมลมที่ดีมีคุณภาพให้แก่ระบบ ประกอบไปด้วย ปั๊มลม(Air compressor) จะสร้างแรงดันลมให้ระบบ จากนั้นก็จะใช้ FRL unit เพื่อเตรียมคุณภาพของลมโดย F (Filter) หรือตัวกรองลม ทำหน้าที่กรองเศษฝุ่น สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ออกจากระบบ ถัดมาคือ R (Regulator) หรือตัวปรับแรงดันลม ทำหน้าที่ปรับแรงดันให้เหมาะสมกับที่ระบบต้องการ ส่วนสุดท้ายคือ L (Lubricator) หรือหัวจ่ายละอองน้ำมัน เนื่องจากอุปกรณ์นิวเมติกส์ทั้งหมดเป็นแบบกลไก หากไม่มีน้ำมันหล่อเลี้ยงเลย ก็อาจจะทำให้อุปกรณ์เกิดความเสียหายจากการเสียดสีได้
2. ส่วนควบคุมการไหลของลม
ส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมทิศทาง และอัตราการไหลของลมในระบบ ไม่ว่าจะเป็นโซลินอยด์วาล์ว(Solenoid valve) ที่ใช้สัญญานไฟฟ้าควบคุมการเปิดปิด และทิศทางการไหลของลม, เช็ควาล์ว(Check valve) จะคอยกันไม่ให้ลมไหลย้อนกลับ รวมไปถึงสปีดคอนโทรลเลอร์(Speed controller) ที่ทำหน้าที่ปรับอัตราการไหลของลม มักจะใช้เพื่อปรับความเร็วในการเคลื่อนที่ของแอคชูเอเตอร์ เป็นต้น
3. ส่วนนิวเมติกแอคชูเอเตอร์
ส่วนนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่เปรียบได้กับเอาท์พุตของระบบ โดยเปลี่ยนแรงดันลมเป็นการเคลื่อนที่เชิงกล เช่น การยืด-หดของกระบอกสูบ (Air cylinder), การจับ-ปล่อยของมือจับ (Air gripper)และ การหมุนของสว่านลม (Pneumatic drills) เป็นต้น
ปัจจัยในการขับเคลื่อนของนิวเมติกส์แอคชูเอเตอร์
1. ทิศทางขับเคลื่อน → การเดินหน้าหรือถอยหลัง, การหมุนตามหรือทวนเข็มนาฬิกา, แบบแกว่ง
2. ความเร็วในการเคลื่อนที่
3. ขนาดของแรงขับเคลื่อน
ปัจจัยทั้ง 3 สิ่งนี้ถูกควบคุมโดยแรงอากาศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานของหัวขับวาล์วลม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งานร่วมกับวงจรนิวเมติกส์
ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก Credit : https://misumitechnical.com
14 ก.ย. 2565
14 ก.ย. 2565
15 ก.ย. 2565
13 ก.ย. 2565